ประวัติและผลงานของราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
งานการแพทย์ในสาขาประสาทศัลยศาสตร์ ซึ่งหมายถึงการรักษาผ่าตัดโรคของสมองไขสันหลังและเส้นประสาทเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้สิ้นสุดลง และศาสตราจารย์ นพ.อุดม โปษะกฤษณะ ผู้ที่ประสาทศัลยแพทย์ไทยยกย่องให้เป็นบิดาแห่งประสาทศัลยแพทย์ ได้กลับมาปฏิบัติราชการในโรงพยาบาลศิริราช ได้เริ่มการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยทั้งทางทางศัลยศาสตร์และประสาทศัลยศาสตร์ หลังจากปฏิบติงานได้ระยะหนึ่ง ท่านอาจารย์อุดมผู้ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในกว้างไกล เล็งเห็นว่าเพื่อประโยชน์ของการสาธารณสุขไทย จำเป็นต้องพัฒนาความรู้ในการผ่าตัดด้านประสาทศัลยศาสตร์เพิ่มเติม ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ท่านจึงได้เดินทางไปศึกษาต่อกับนายแพทย์ Harrack และ นายแพทย์ Poppen ที่ Lahey Clinic ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังไปศึกษากับ นายแพทย์ Olivacrona ที่ประเทศสวีเดน และได้กลับมาก่อตั้งหน่วยประสาทศัลยศาสตร์แห่งแรกขึ้นในประเทศไทยที่ รพ.ศิริราช ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ เพื่อให้สามารถบริการผู้ป่วยและพัฒนาด้านวิชาการ รวมทั้งการเรียนการสอนของแพทย์และนักศึกษาแพทย์เฉพาะสาขา ประสาทศัลยศาสตร์แยกจากศัลยศาสตร์สาขาอื่น
ต่อมาศาสตราจารย์ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ผู้ที่ได้รับทุนพระราชทานอานันทมหิดลเป็นคนแรกของประเทศ ศาสตราจารย์ นพ.วิชัย บำรุงผล, ศาสตราจารย์ นพ.สิระ บุณยะรัตเวช และ ศาสตราจารย์ นพ.รุ่งธรรม ลัดพลี ได้ทยอยกันเดินทางกลับจากการศึกษาต่อด้านประสาทศัลยศาสตร์จากต่างประเทศ และได้ร่วมกันพัฒนางานด้านประสาทศัลยศาสตร์เพิ่มขึ้น ทั้งงานศึกษา วิจัย การประสานงานวิชาการกับนานาประเทศ และการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาประสาทศัลยศาสตร์ ยังผลให้การรักษาพยาบาล และวิชาการด้านประสาทศัลยศาสตร์ ของประเทศไทยเจริญขึ้นเป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง
บรรดาประสาทศัลยแพทย์ซึ่งยังมีจำนวนไม่มากนักในขณะนั้น ได้ทำงานร่วมกับ ศัลยแพทย์สาขาต่างๆ เพื่อพัฒนาการสาธารณสุขไทย จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๘ แพทยสภาได้อนุมัติให้ก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยโดยออกข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วย “วิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๑๘” ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๒ ตอนที่ ๙๙ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๑๘ บรรดาสมาชิกศัลยแพทย์สาขาต่าง ๆ ได้คัดเลือกให้ ศาสตราจารย์ นพ.อุดม โปษกฤษณะ เป็นประธานวิทยาลัยฯ ท่านแรก ศาสตราจารย์ นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นเลขาธิการ ศาสตราจารย์ นพ.รุ่งธรรม ลัดพลี เป็นเหรัญญิก และ ศาสตราจารย์ นพ.วิชัย บำรุงผล เป็นผู้แทนกลุ่มประสาทศัลยแพทย์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้รับวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า “ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย” นับเป็นราชวิทยาลัยทางการแพทย์แห่งแรกของไทย โดยในขณะนั้นศาสตราจารย์นพ.รุ่งธรรม ลัดพลี ได้เขียนบทความ เรื่อง ความฝันอันสูงสุด “กำเนิดราชวิทยาลัยศัลยแพทย์” ลงในหนังสือการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๒๓ ความตอนหนึ่งว่า “การเป็นราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ เป็นความฝันอันสูงสุดของพวกเรา เพราะเราเป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข แน่นอนที่สุดเราคงไม่หยุดเพียงแค่นี้ เราได้ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยแล้ว ก็ยังต้องดำเนินการต่อไป นั่นคือการบำเพ็ญประโยชน์ในสังคมของเรา ด้วยความรู้ ความชำนาญทางศัลยศาสตร์ยิ่งๆ ขึ้นไปนอกเหนือจากการสร้างบ้านและครอบครัวของเราแล้ว“
นับแต่นั้นเป็นต้นมาเหล่าประสาทศัลยแพทย์ก็ได้ร่วมดำเนินการปฏิบัติงานและพัฒนางานตามที่ได้รับมอบหมายจากแพทยสภาและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ในหลายด้านๆ อาทิเช่น การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน เพื่อเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาประสาทศัลยศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๓ จวบจนปัจจุบัน มีสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านที่ผ่านการประเมินและรับรองจากแพทยสภาแล้วทั้งสิ้น ๘ สถาบันทั่วประเทศ สามารถผลิตแพทย์ประจำบ้าน หลักสูตร ๕ ปีให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางประสาทศัลยศาสตร์จำนวน ๒๘ คนต่อปี
กลุ่มประสาทศัลยแพทย์ได้ร่วมจัดงานประชุมวิชาการต่างๆ ทั้งที่จัดร่วมกัราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย การจัดเพื่อการสอนแพทย์ประจำบ้าน การประชุมของประสาทศัลยแพทย์ในประเทศ การจัดและการเข้าร่วมการประชุมของประสาทศัลยแพทย์นานาชาติ ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติมากขึ้นเป็นลำดับ
ต่อมาเนื่องจากมีความจำเป็นในการติดต่อและประสานงานกับนานาประเทศเฉพาะในกลุ่มประสาทศัลยแพทย์ทั่วโลก จำเป็นต้องมีองค์กรเฉพาะสาขาเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ ดังนั้น ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ เหล่าประสาทศัลยแพทย์จึงได้ร่วมกันก่อตั้ง สมาคมประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ขึ้น โดยสมาชิกได้คัดเลือก ให้ ศาสตราจารย์ นพ.สิระ บุณยะรัตเวช เป็นนายกสมาคมฯ เป็นท่านแรกในวาระปี พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๓๐ โดยมีศาสตราจารย์ นพ.รุ่งธรรม ลัดพลีเป็นอุปนายก และได้รับการคัดเลือกให้เป็น นายกสมาคมฯ ท่านที่ ๒ ในวาระปี พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๒ โดยสมาคมประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ต่างๆ กล่าวคือ
จากการที่มีสมาคมประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ทำให้การดำเนินงานในด้านความร่วมมือทางวิชาการ และการสร้างความสัมพันธ์กับสถาบันแพทย์เฉพาะทางสาขาประสาทศัลยศาสตร์ในต่างประเทศ องค์กรแพทย์สาขาอื่นๆ ทั้งไทย และนานาชาติ เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก โดยสมาคมฯ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์ประสาทศัลยแพทย์โลก (World Federation of Neurological Surgeons) และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Asian–Australasian Neurosurgical Association และ ASEAN Neurosurgical Association โดยคณะกรรมการอำนวยการของสมาคมฯ และสมาชิกหลายท่านได้เข้าร่วมประชุมทั้งด้านวิชาการ ธุรการ นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์วิชาชีพ และทักษะการผ่าตัดในการประชุมวิชาการด้านประสาทศัลยศาสตร์ทั่วโลกอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังจัดให้มีการจัดประชุมวิชาการร่วมระหว่างสมาคมประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยกับสมาคมประสาทศัลยแพทย์แห่งเยอรมัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๔ เป็นประจำทุก ๒ ปี ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และมีความสนิทสนมจนสามารถส่งประสาทศัลยแพทย์ไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศเยอรมันได้ทุกปี
จากผลการปฏิบัติงานที่ได้กระทำอย่างต่อเนื่องของอดีตผู้บริหารประสาทศัลยแพทย์อาวุโสและมวลสมาชิกประสาทศัลยแพทย์ไทย แพทยสภาจึงได้อนุมัติให้ก่อตั้งวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วย “วิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๐” ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๕ ตอนพิเศษ ๑๖ง เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๑
โดยแพทยสภาให้วิทยาลัยมีภาระหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากแพทยสภา ในการฝกอบรมและสอบเพื่อเปนผูมี
ความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาประสาทศัลยศาสตร์
(๒) กำหนดและควบคุมมาตรฐานทางวิชาการในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของประสาทศัลยแพทย์ในประเทศไทย รวมทั้งสอดส่องดูแลและส่งเสริมความประพฤติและจริยธรรมในการ ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของสมาชิก
(๓) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และแนะแนววิชาการ สาขาประสาทศัลยศาสตร์
(๔) จัดการประชุมทางวิชาการ การศึกษาต่อเนื่อง และกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับสมาชิก
(๕) เป็นศูนย์กลางการติดต่อและแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ และกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกับราชวิทยาลัย วิทยาลัย สมาคมหรือชมรมต่าง ๆ ในวิชาชีพเวชกรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(๖) ส่งเสริมและผดุงเกียรติของสมาชิก
(๗) ส่งเสริมและสร้างความเข้าใจอันดีงามและความสามัคคีในหมู่สมาชิก และระหว่าง สมาชิก กับแพทย์สาขาวิชาอื่น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(๘) จัดหาทุนและผลประโยชน์อื่น ๆ เพื่อใช้ในกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของวิทยาลัย รวมทั้งเพื่อการศึกษาและวิจัยในสาขาประสาทศัลยศาสตร์และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
(๙) เผยแพร่ความรู้ทางประสาทศัลยศาสตร์ อันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและวิชาชีพเวชกรรม
(๑๐) ออกระเบียบต่าง ๆ ของวิทยาลัย ทั้งนี้โดยไม่ขัดกับพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม และข้อบังคับของแพทยสภา
(๑๑) รายงานกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ของวิทยาลัยต่อแพทยสภาเป็นประจำปีหรือตามที่แพทยสภาขอให้รายงาน โดยภายในกรอบภารกิจที่ได้รับมอบหมายดังกล่าว วิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยก็ได้ดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของแพทยสภาเช่นเดียวกับทั้ง ๑๓ ราชวิทยาลัย
วิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย มีแผนงานการจัดประชุมวิชาการ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวาระมหามงคลสมัยที่ทรงมีพระชนมายุ ๘๔ พรรษา ร่วมกับ สหพันธ์ประสาทศัลยแพทย์โลก (WFNS) และสมาคมประสาทศัลยแพทย์แห่งอาเซียน โดยจัดประชุมที่ จังหวัดภูเก็ต ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๔ และในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ จะจัดประชุมวิชาการร่วมระหว่าง วิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย กับ สมาคมประสาทศัลยแพทย์แห่งเยอรมัน ร่วมกันอีกที่ จังหวัด Karlsruhe ประเทศสหพันธ์รัฐเยอรมัน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติของวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยในปี ๒๕๕๔
ผลงานพิเศษอื่นๆ
บรรดาประสาทศัลยแพทย์ในประเทศไทย ต่างร่วมสร้างผลงานเพื่อประชาชน และเฉลิมพระเกียรติโดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ในหลายโอกาส หลายวาระเสมอมา อาทิเช่น
นอกเหนือจากภารกิจหลัก ที่วิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยได้รับมอบหมายจากแพทยสภาและภารกิจพิเศษต่างๆแล้ว ประสาทศัลยแพทย์ในประเทศไทยทุกคน ต่างล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่ทรงมีต่อมวลพสกนิกร และต่างพร้อมปวารณาตน เพื่อโดยเสด็จฯ ร่วมสร้างผลงานเพื่อประชาชน และจักคงไว้ซึ่งความจงรักภักดี เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ในทุกโอกาสตลอดไป